ดวงประทีปแห่งความรุ่งโรจน์ของมูลนิธิฯ ตามลำดับแห่งกาลเวลา
 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา 
ประธานกรรมการอำนวยการ ( พ.ศ. 2536-2541)
ประธานกรรมการดำเนินงาน ( พ.ศ. 2526-2541)

 

 พระประวัติโดยสังเขป
   พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา  ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมละออ  ศิริสัมพันธ์  นับเนื่องเป็นพระราชนัดดา  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ   พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรสที่ดำรงพระชนม์ชีพ อันทรงคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และประชาชน เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไปอยู่  5  พระองค์  คือ

    1.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  6

    2.สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

    3.สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ กรมหลวงนครราชสีมา

    4.สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

    5.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7

   พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา   ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่  16  ธันวาคม พ.ศ.2464 เมื่อแรกนั้น ดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้า  เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2470  มีพระอนุชาร่วมพระบิดา คือ  พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช
    พระองค์หญิงฯ   ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าสุวินิต   กิติยากร   โอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท  มีธิดา  2  คน คือ ม.ร.ว.สุนิดา  กิติยากร และ ม.ร.ว.เสาวนิต  กิติยากร                                                พระองค์หญิงฯ สิ้นพระชนม์  เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ด้วยโรคพระโลหิตไม่ปกติ  สิริพระชนมายุรวม  76  พรรษา  1  เดือน  17  วัน

การศึกษา และพระภารกิจด้านการศึกษา
พระองค์หญิงฯ ทรงได้รับการศึกษามาจากโรงเรียนราชินี  ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น  เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่  6  แล้ว  ในชั้นต้นทรงตั้งพระทัย จะเสด็จไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน จึงเปลี่ยนมาทรงศึกษาด้านการเรือน (Finishing  Course) แทน  จนจบในปี
พ.ศ. 2483 จากนั้น จึงทรงเริ่มช่วยงาน ณ โรงเรียนราชินีในฝ่ายธุรการ  ทรงหยุดปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่งเนื่องจากทรงมีภารกิจทางครอบครัว            
ในปี พ.ศ.2517 หม่อมเจ้าหญิงสมรศรีโสภา เทวกุล ผู้จัดการโรงเรียนราชินีบน  รองประธาน และกรรมการมูลนิธิโรงเรียนราชินี ได้ทรงชักชวนพระองค์หญิงฯ ให้เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนราชินีสืบแทนหม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี  เทวกุล  ที่ทรงชราแล้ว  และต่อมาพระองค์หญิงฯ  ทรงดำรงตำแหน่งรักษาการครูใหญ่ด้วย  เป็นเวลา  1  ปี
นับแต่นั้นจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ที่ทรงปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับการศึกษาของเยาวชนตลอดมา  มิได้จำกัดอยู่เฉพาะโรงเรียนราชินีเท่านั้น  พระองค์หญิงฯ ทรงส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ตามอัตภาพจนถึงระดับปริญญาเอก โดยทุนส่วนพระองค์ สืบเนื่องเรื่อยมามิได้ขาด

    ด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา และทรงห่วงใยในการศึกษาของเยาวชน พระองค์หญิงฯ จึงทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน  ในพระบรมราชินูปถัมภ์   แทนหม่อมงามจิตต์  บุรฉัตร   ซึ่งถึงแก่อนิจกรรม   ตามคำทูลเชิญของคุณหญิงพิมพา  สุนทรางกูร  รองประธานคณะกรรมการ  เมื่อปี พ.ศ.2527  จนตลอดพระชนม์ชีพ
งานของมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน นี้ เป็นโครงการหนึ่ง ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน ผู้ยากไร้ทั่วประเทศให้ได้มีโอกาสรับการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่องทุกระดับ  โดยให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนปีละกว่า  3,000  คน  ซึ่งต้องใช้เงินประมาณปีละ 7 ล้านบาท  อันเป็นภาระหนักอย่างยิ่งในการที่จะต้องจัดหาเงินทุนมาให้เพียงพอแก่การใช้จ่าย  โดยมิต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน
ด้วยพระปรีชาสามารถ และน้ำพระทัยอันประเสริฐ ที่แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ร่วมงานตลอดมา พระองค์หญิงฯ ในฐานะองค์ประธานกรรมการฯ จึงทรงเป็นศูนย์รวมใจของกรรมการมูลนิธิฯ ที่มาจากบุคคลเกือบทุกสาขาวิชาชีพ ต่างช่วยกันระดมสรรพกำลังทั้งมวล ช่วยกันทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อเยาวชนของชาติ ทรงทำให้มูลนิธิฯ เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น สามารถให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องแก่เยาวชนผู้ยากไร้ในหมู่บ้านทุกอำเภอ ทั่วประเทศปีละกว่า 3,000 คน เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสรับการศึกษาอบรม  ให้เป็นผู้มีทั้งความรู้  และคุณธรรมเติบโตเป็นพลเมืองดี เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า สามารถอำนวยคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง และช่วยกันธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ปัจจุบัน  มีเยาวชนที่กำลังศึกษา และจบการศึกษาแล้ว รวมกว่า 10,000 คน นับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่ขาดแคลนแล้ว ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคม ด้วยการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติสืบไป

เครื่องราชอิสริยาภรณ์          
ม.ป.ช.,  ม.ว.ม.,  ท.จ.ว. เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๑

ด้านธุรกิจ
ในด้านธุรกิจ    พระองค์หญิงฯ   ทรงเคยเป็นองค์ประธานบริษัทแอร์สยาม    จำกัด   ซึ่งพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช   เป็นผู้ริเริ่ม นับเป็นสายการบินเอกชนสายแรกในประเทศไทย ที่ประกอบธุรกิจการบินข้ามประเทศ

พระจริยาวัตรในการพัฒนาสังคม
พระองค์หญิงฯ  ทรงดำรงพระชนม์ชีพเยี่ยงสามัญชนทั่วไปมีน้ำพระทัยอ่อนโยน  เมตตากรุณา โอบอ้อมอารีต่อบุคคลทุกคนโดยเสมอหน้า ทรงมีพระปรีชาสามารถวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ ความเป็นไปต่างๆ  ได้อย่างลึกซึ้งเหมาะสม  ทรงให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงานและองค์การต่างๆ  ที่ทรงมีส่วนช่วยเหลืออย่างเต็มพระสติกำลัง จนงานบรรลุผลสำเร็จเป็นปึกแผ่นเสมอมา ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานขององค์การ องค์อุปถัมภ์ และกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ ต่างๆ ซึ่งล้วนดำเนินงานเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม  อันเป็นการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ  ทั้งสิ้น   ดังนี้

1.องค์ประธานมูลนิธิส่วนหลวง ร.9 

2.องค์ประธานมูลนิธิ “ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช ”

3.องค์ประธานกรรมการอำนวยการมูลนิธิฯ  และองค์ประธานกรรมการดำเนินงาน
มูลนิธิ “ ร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ  เพื่อเยาวชน ”  ในพระบรมราชินูปถัมภ์

4.องค์ประธานคณะกรรมการราชินีมูลนิธิ

5.ผู้จัดการโรงเรียนราชินี

6.องค์ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80

7.องค์ประธานมูลนิธิสุทธธรรมวินิต

8.กรรมการที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนเก่าราชินี

9.องค์อุปถัมภ์สมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง

10.องค์อุปถัมภ์วิทยาเขตเพาะช่าง

11.องค์อุปถัมภ์ทุนการศึกษาของวิทยาเขตเพาะช่าง

12.องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์  บุรฉัตร

13.องค์อุปถัมภ์คณะคหกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

14.องค์อุปถัมภ์วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย

15.องค์ประธานกองทุน “ เจ้าฟ้าจุฑาธุช ”  วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย

ความสนพระทัยในศาสตร์ประเภทต่างๆ  และการกีฬา
พระองค์หญิงฯ  ทรงสนพระทัยในศาสตร์หลายประเภท  ทรงศึกษาเมื่อพระชนมายุมากแล้ว และทรงฝึกฝนอย่างจริงจัง  รวมทั้งทรงมีพรสวรรค์พิเศษ  พระองค์หญิงฯ จึงทรงมีพระอัจฉริยะเป็นเลิศในศาสตร์เหล่านั้น  อันได้แก่

1.ความรู้เกี่ยวกับคหกรรมศาสตร์  โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ทรงไปเรียนการทำอาหาร และโปรดการทำอาหารตลอดมา

2.ความรู้เกี่ยวกับดนตรี และฟ้อนรำ ทรงเริ่มเรียนการเล่นอิเลคโทน ประมาณปีพ.ศ.2526 และทรงเล่นได้ไพเราะ  ภายหลังพระภารกิจมากขึ้น  จึงไม่ได้ทรงเล่น
สำหรับการฟ้อนรำ ทรงรำได้งดงาม อ่อนช้อย เมื่อยังทรงพระเยาว์  พระองค์หญิงฯ ทรงเคยรำร่วมกับ  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระองค์หญิงฯ   ทรงรำหน้าพระที่นั่งในวโรกาส  6  รอบ   วันพระราชสมภพของ  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   6  พฤษภาคม พ.ศ.2538 โดยทรงรำ  2  ครั้ง    ครั้งแรกที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา   เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2538  ร่วมกับพระญาติ-ข้าราชบริพาร   ครั้งที่  2  ทรงรำร่วมกับสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่า โรงเรียนราชินี

3.ความรู้ทางศิลปะ  ทรงเรียนวาดภาพบนกระเบื้อง  เมื่อประมาณ พ.ศ.2528 ได้ประทานฝีพระหัตถ์หลายชิ้นให้มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ  นำไปจัดพิมพ์เป็นบัตร ส.ค.ส. และได้นำออกแสดงนิทรรศการ  ณ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  และวิทยาเขตเพาะช่าง   ตามคำขอของผู้จัดงานด้วย

4.ความรู้เกี่ยวกับพลังจักรวาล  ซึ่งเป็นวิชาที่ฝึกโดยการทำสมาธิ  เพื่อดูแลสุขภาพทางกาย และทางใจ  ให้กับตัวเองและผู้อื่น  เมื่อพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวิมลฉัตร  ทรงชวนพระองค์หญิง  ไปทอดพระเนตรวิชานี้  พระองค์หญิงฯ จึงทรงส่งผู้ใกล้ชิดที่สนใจไปเรียนก่อน จนจบระดับ 4 ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2538  จึงทรงไปเรียน และจบระดับ  5/1  ในปีพ.ศ.2539  การที่พระองค์หญิง ได้ทรงศึกษาถึงระดับ 5/1  ซึ่งน้อยคนนักที่จะเรียนต่อถึงระดับนี้  จึงสามารถดูแลสุขภาพให้แก่ผู้อื่นที่อยู่ไกลๆ ได้  นอกจากนี้ ยังทรงหาโอกาสที่จะพบปะคณะอาจารย์พลังจักรวาลตลอดเวลา เพื่อซักถามและแลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งต่างๆ  พระองค์หญิงฯ สนพระทัยวิชาพลังจักรวาลอย่างมาก  ทรงฝึกฝนวิชานี้และดูแลสุขภาพพระองค์เองเป็นประจำ ทั้งยังประทานพระเมตตาดูแลสุขภาพแก่พระญาติ-พระสหาย ผู้คุ้นเคยและข้าหลวงอีกด้วย

5.เรื่องกีฬา พระองค์หญิง ทรงโปรดกีฬาแบดมินตัน  นอกจากทรงเล่นเองแล้ว ยังทรงส่งเสริม และสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถทางการกีฬา เพื่อให้ได้รับการพัฒนาจนบางคนมีฝีมือถึงระดับชาติ นอกเหนือจากนี้   ยังทรงสร้างคอร์ทแบดมินตัน  และอุปถัมภ์สมาคมแบดมินตัน  รวมทั้งยังทรงเคยเป็นองค์ประธานสหพันธ์แบดมินตันแห่งประเทศไทยด้วย
พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยะภาพของพระองค์หญิง ที่สนพระทัยในศาสตร์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้รับการยกย่อง ชื่นชมและศรัทธาแก่ผู้รู้เห็นอย่างกว้างขวาง สมควรที่จะได้เผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังที่จะได้เจริญรอยตามพระบาท  ในด้านพระวิริยะอุตสาหะ  แม้ว่าพระชนมายุมากแล้ว  ก็ยังทรงมุ่งมั่นศึกษาทุกอย่างที่สนพระทัยอย่างลึกซึ้ง และปฏิบัติอย่างจริงจัง

ปริญญากิตติมศักดิ์
พ.ศ.2531                          -ปริญญาปรัชญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สาขาบริหาร
การศึกษา  มหาวิทยาลัยอเมริคัส   เมืองนิวออร์ลีน  รัฐหลุยส์เซียน่า
สหรัฐอเมริกา
พ.ศ.2533                          -ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สาขาคหกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
พ.ศ.2534                          -ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา   มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ.2536                          -ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สาขาศิลปกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
พ.ศ.2539                          -ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สาขาศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสยาม                                                    


แสนอาลัย..........

  พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา  ทรงรับตำแหน่งองค์ประธานกรรมการดำเนินงาน มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ต่อจากหม่อมงามจิตต์  บุรฉัตร  ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมมาเป็นเวลาถึง 14 ปี ทั้งทรงพระกรุณารับตำแหน่งองค์ประธานกรรมการอำนวยการ สืบแทนศาสตราจารย์ ดร.ก่อ  สวัสดิ์พาณิชย์  ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเช่นกัน  เมื่อปี 2536 อีกตำแหน่ธ